วันอังคารที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2557

ประเทศไทยประชาชนยังไม่เชื่อมั่นในการทำงานของตำรวจ



โอเค ครับผม.....วันนี้ ๒๘ ม.ค.๒๕๕๗  ลุงธีได้ติดตามอ่านบล็อกของ
ท่าน พ.ต.ท.สุพจน์ มัจฉา  ซึ่งท่านได้นำเอาบทความของ
ร.ต.อ.ดร.ยิ่งยศ ลีชัยอนันต์
ที่เขียนถึงผลการวิจัยที่สรุปว่าเมืองไทยชาวบ้าน
ยังไม่มั่นใจ...ยังไม่เชื่อถือ....ไม่ไว้วางใจในพฤติกรรมของ
ตำรวจไทย...โดยผลการสำรวจตำรวจไทยอยู่ในกลุ่มของสิ่งที่ไม่ดี
ลุงธีเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์...เผื่อผู้เกี่ยวข้องจะได้นำเอาข้อมูล
ไปปรับปรุงพัฒนาการทำงานของตนเอง
จึงได้นำบทความนั้น
มาเผยแพร่ในบล็อกของลุงธีก็แล้วกัน
ลุงธีเป็นตำรวจ...รู้ดี...ทราบดี...บางครั้งก็พูดออกมาไม่ได้
ให้คนอื่นพูดแทนน่าจะดีกว่าที่ลุงธีพูดเองนะคร้าบบบ
เชิญติดตามชมได้แล้วครับ...........


คนไทยมั่นใจตำรวจในระดับต่ำ (๒๗ มกราคม ๒๕๕๗)

สายตรวจระวังภัย : เปิดงานวิจัยระดับโลก คนไทยมั่นใจตำรวจในระดับต่ำ : โดย...ทีมข่าวอาชญากรรม

การวิจัยด้านสังคมศาสตร์โดยเฉพาะความเชื่อมั่นของประชาชนถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้การดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ประสบความสำเร็จ ในแวดวงตำรวจเองก็มีการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับความพึงพอใจและความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อตำรวจสม่ำเสมอเช่นกัน

เมื่อเร็วๆ นี้ ร.ต.อ.ดร.ยิ่งยศ ลีชัยอนันต์ อาจารย์คณะตำรวจศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง "ความเชื่อมั่นของประชาชนในการตำรวจและศาล" ซึ่งถูกจัดให้เป็นงานวิจัยระดับโลก และหลังจากงานวิจัยชิ้นนี้เผยแพร่สู่แวดวงการศึกษา สำนักพิมพ์ "Scholar’s Press" ของประเทศเยอรมนี ได้ซื้อลิขสิทธิ์ไปจัดพิมพ์เป็นหนังสือฉบับภาษาอังกฤษชื่อ "Public Confidence in the Police and Courts : A Cross-National Analysis" วางจำหน่ายในร้านหนังสือกว่า ๘ หมื่นแห่งทั่วโลก

งานวิจัยชิ้นนี้วิเคราะห์ความมั่นใจของประชาชนที่มีต่อตำรวจและศาลเชิงเปรียบเทียบจำนวน ๓๖ ประเทศใน ๖ ทวีปคืออเมริกาเหนือและกลาง, อเมริกาใต้, ยุโรป, เอเชีย, แอฟริกา และโอเชียเนีย โดยมุ่งศึกษาเกี่ยวกับความมั่นใจของประชาชนที่มีต่อตำรวจซึ่งจะมีผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ โดยเฉพาะงานป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม

"ผลการวิจัยพบว่าประเทศที่ประชาชนมั่นใจต่อตำรวจสูงสุดคือประเทศฟินแลนด์และเวียดนาม ขณะที่ประชาชนมั่นใจต่อตำรวจน้อยที่สุดคืออาร์เจนตินาตามด้วยมอลโดวา ส่วนประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ ๒๗ จากทั้งหมด ๓๖ ประเทศซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ประเทศที่ประชาชนมั่นใจต่อเจ้าหน้าที่ศาลสูงสุดคือเวียดนามตามด้วยนอร์เวย์, ฟินแลนด์และจีนตามลำดับ ขณะเดียวกันประเทศอาร์เจนตินา เป็นประเทศที่ประชาชนมีความมั่นใจต่อศาลน้อยสุด ส่วนประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ ๑๐ จากทั้งหมด ๓๖ ประเทศ" ร.ต.อ.ดร.ยิ่งยศ เปิดเผยพร้อมขยายความว่า

ปัจจัยที่ส่งผลต่อความมั่นใจของประชาชนที่มีต่อตำรวจสามารถแบ่งได้ ๒ ระดับคือระดับชาติ ความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความมั่นใจของประชาชนที่มีต่อตำรวจ โดยประเทศที่มีความแตกต่างทางรายได้ของประชาชนสูงจะมีความเชื่อมั่นต่อตำรวจต่ำ ประชาชนที่มีรายได้ต่ำและอาศัยอยู่ในประเทศที่มีความแตกต่างในเรื่องรายได้อยู่ในระดับสูงจะมองว่าตำรวจจะเลือกปฏิบัติกับประชาชน

ขณะที่ปัจจัยด้านการปกครองจะมีผลต่อความเชื่อมั่นต่อองค์กรตำรวจและศาลเช่นกัน โดยในประเทศที่ปกครองแบบเผด็จการเช่นจีนและเวียดนามจะมั่นใจในองค์กรตำรวจและศาลสูงกว่าประเทศที่กำลังพัฒนาสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย เช่น อาร์เจนตินา ขณะที่ระดับตัวบุคคล การเชื่อถือเพื่อนบ้านจะส่งผลต่อความมั่นใจต่อทั้งตำรวจและศาลมากที่สุด

"การป้องกันและปราบปรามปัญหาอาชญากรรมให้ได้ผลจะอาศัยตำรวจอย่างเดียวเป็นไปได้ยาก ตำรวจต้องได้รับความร่วมมืออย่างดีจากประชาชน ซึ่งการที่ประชาชนจะให้ความร่วมมือได้ตำรวจต้องได้รับความไว้วางใจและความเชื่อมั่นจากประชาชนก่อน แต่ผลวิจัยพบว่าตำรวจไทยเรายังได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชนในระดับต่ำ ซึ่งตำรวจต้องสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนให้มากขึ้น" ร.ต.อ.ดร.ยิ่งยศ ให้ข้อมูล

งานวิจัยชิ้นนี้เป็นงานวิจัยที่สมบูรณ์และครอบคลุมที่สุดในการศึกษาเรื่องความมั่นใจของประชาชนที่มีต่อตำรวจและศาลและปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เหมาะสำหรับบุคคลในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะตำรวจควรนำไปศึกษาเนื่องจากปัจจุบันคนไทยเชื่อมั่นต่อตำรวจต่ำ หากตำรวจได้ศึกษาจะทำให้ทราบถึงวิธีการสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป


                                                        ภาพกิจกรรมต่างๆของลุงธี

วันพุธที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2557

กับดักทางการเมือง....กับตำรวจไทย.....


ตำรวจมะเขือเทศ? : โลกตำรวจ โดย ผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข (๑๒ มกราคม ๒๕๕๗)

"ความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนที่มีต่อตำรวจต่ำถึงสุดขีด" เป็นถ้อยคำที่น่าสะเทือนใจและมิอาจยอมรับได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน หากประชาชนไร้ซึ่งความเชื่อมั่นที่มีต่อการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการบังคับใช้กฎหมายและเป็นกลไกด่านแรกของกระบวนการยุติธรรมแล้วนั้น สังคมจะเป็นเช่นไร ?

ถึงแม้ว่าสังคมจะเคลื่อนไปตามกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและเพิ่มระดับการใช้ความรุนแรงทางสังคมมากขึ้นด้วย โดยสามารถสังเกตได้อย่างชัดเจนจากการต่อสู้กันทางโลกของสังคมออนไลน์ แต่สังคมก็ยังจำเป็นต้องมีระเบียบหรือที่เราคุ้นชินกับคำว่าการจัดระเบียบของสังคม ซึ่งหมายถึงกระบวนการทางสังคมที่คอยควบคุมความประพฤติของคนในสังคมให้อยู่ในระเบียบ กฎเกณฑ์ที่สังคมกำหนดไว้ เป็นการสร้างบรรทัดฐานทางสังคมซึ่งก็คือ แบบแผน มาตรฐานการปฏิบัติที่สังคมยอมรับว่าสมควรปฏิบัติตามสถานภาพและบทบาทที่แตกต่างกันไป อย่างเช่น ตำรวจต้องบริการประชาชน รักษาชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมถึงรักษาความสงบภายในสังคมเพื่อให้คนที่เป็นอยู่ในสังคมมีชีวิตที่ผาสุก ทั้งนี้ สถานภาพ บทบาทและหน้าที่จำเป็นต้องดำรงไปอย่างสอดคล้องกัน

บรรทัดฐานทางสังคมมีทั้งที่เป็นวิถีประชาและจารีต และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกฎหมายเพื่อบังคับใช้ด้วย เนื่องจากสังคมประกอบด้วยกลุ่มคนที่แตกต่างกัน มีความขัดแย้งกันระหว่างกลุ่มอยู่เสมอ กฎหมายจึงมีความสำคัญในการขจัดความขัดแย้งที่เกิดขึ้น หากไม่มีกฎหมายกลุ่มก็จะต้องขจัดความขัดแย้งกันเอง ตัดสินกันเองเป็นส่วนตัว ซึ่งย่อมไม่มีความยุติธรมต่อคู่ขัดแย้ง การทำหน้าที่ตามบทบาทของตำรวจที่ดีจึงไม่ใช่การเลือกข้างไปอยู่ในสถานะของคู่ขัดแย้งและไม่ควรผลักไสตำรวจให้ไปยืนอยู่ในสถานะของคู่ขัดแย้งด้วย...ตำรวจต้องยืนอยู่อย่างเข้มแข็งในการบังคับใช้กฎหมาย

"อย่างน้อยพวกเขาก็ได้มีรูระบายความอัดอั้นตันใจ" นายตำรวจใหญ่ชี้แจงแสดงเหตุผลของการรวมกลุ่มของตำรวจในแต่ละกองบัญชาการภาคต่างๆ อาทิเช่นที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ลานย่าโม ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจชลบุรี เป็นต้น โดยมุ่งเน้นที่จะบอกแก่สังคมว่าเป็นการรวมพลังปกป้องเกียรติภูมิและศักดิ์ศรีตำรวจไทย

ความอัดอั้นตันใจของตำรวจมิใช่เกิดขึ้นจากการที่เพื่อนตำรวจตายเพียง ๑ ศพ หรือ ๒ ศพ จากการปฏิบัติหน้าที่ในการพยายามรักษาความสงบเรียบร้อยแต่เพียงเท่านั้น เพราะการตายในหน้าที่เป็นเรื่องที่ตำรวจถูกปลูกฝังว่ามีเกียรติ หากแต่การปฏิบัติหน้าที่ในยามนี้กลับเต็มไปด้วยกระแสของการใส่ร้ายป้ายสี การกระทำย่ำยีในรูปแบบต่างๆ จนตำรวจส่วนใหญ่ยังอดที่จะหวาดกลัวกับความรู้สึกของตนเองไม่ได้ นั่นคือ กลัวว่าความอดทนอดกลั้นจะสิ้นสุดลง หากตำรวจหมดความอดทน อดกลั้นเสียแล้วอะไรจะเกิดขึ้น? การปกป้องเกียรติภูมิศักดิ์ศรีของตำรวจทำได้โดยวิธีการมาชุมนุมกัน ซึ่งไม่แตกต่างจากเหล่าฝูงชนกลุ่มต่างๆในเวลานี้เช่นนั้นหรือ? อะไรหรือใครอยู่เบื้องหลังวิธีคิดและวิธีการเช่นนี้? หากวิเคราะห์จากอุดมคติตำรวจที่เปรียบเสมือนคาถาสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจนั้นยังพบว่า เรื่องของความอดทนอดกลั้นต่อความเจ็บใจยังถูกจัดให้อยู่ในลำดับต้น ดั่งที่ว่า...เคารพเอื้อเฟื้อต่อหน้าที่ กรุณาปรานีต่อประชาชน อดทนต่อความเจ็บใจ ไม่หวั่นไหวต่อความยากลำบาก...

ในห้วงเวลาที่ความขัดแย้งของการช่วงชิงอำนาจทวีความรุนแรงในสังคมไทยยามนี้ การที่ตำรวจจะระบายความรู้สึกอัดอั้นตันใจผ่านการมาร่วมชุมนุมกันจะเป็นไปเพื่อแสดงพลังหรือมีเป้าหมายอย่างใดล้วนไม่บังเกิดผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในเชิงบวกจากเหล่าบรรดากลุ่มบุคคลที่มุ่งหวังจะผลักไสให้ตำรวจคือคู่ตรงข้าม หรือพูดชัดๆ ว่าเป็นกลุ่มบุคคลที่เกลียดหรือมีอคติต่อตำรวจเป็นทุนเดิม หากแต่กลับทำให้เห็นปรากฏการณ์ที่ชัดเจนว่าตำรวจกำลังจะประกาศตนเป็นคู่ตรงข้ามแล้ว และการรวมกลุ่มดังกล่าวทำให้ตีความหมายไปในทางที่เสี่ยงได้ว่า "อย่าข่มเหงกันนะฉันก็มีกำลังนะ ฉันก็มีพลังนะซึ่งความหมายดังกล่าวไม่ใช่วิถีปกติของตำรวจไทย ดังจะเห็นได้ว่าปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นเลยในสังคมไทย และตำรวจก็ไม่ควรจะกล่าวอ้างว่า "เพราะเหลือทนแล้ว จึงเกิดปรากฏการณ์เช่นนี้ขึ้น

มิใช่ว่าจะสนับสนุนให้ตำรวจจำต้องอดทน อดทน และอดทนอยู่เพียงลำพัง โดดเดี่ยว และว้าเหว่โดยไม่ได้รับการสนับสนุนสนใจไยดี หากแต่ต้องการตั้งคำถามว่าทำไมรัฐบาลและผู้นำตำรวจจึงปล่อยให้เหล่าบรรดาไพร่พลตำรวจต้องอดทน อดกลั้นต่อการกระทำรุนแรงที่ไม่เป็นธรรมเช่นนี้ จนกระทั่งเหล่าบรรดาตำรวจไพร่พลเหล่านี้เริ่มมีปฏิกิริยาตอบโต้ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งหากจะตีความหมายว่า การตอบโต้ของเหล่าไพร่พลตำรวจเป็นไปในลักษณะเป็นคู่ตรงข้ามอย่างชัดเจนกับผู้ชุมนุม ย่อมหมายความว่า ตำรวจได้หลงกลติดกับดักทางการเมืองแล้วนั้น จะเป็นไปได้หรือไม่?...ลักษณะเช่นนี้ที่ทำให้ความเข้าใจผิดๆ เกิดขึ้น เช่นการนิยามที่ว่า ตำรวจมะเขือเทศใช่หรือไม่ ?

ดังนั้น การเสริมพลังให้ตำรวจเป็นตำรวจมืออาชีพ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรีสมกับเป็นตำรวจของพระราชาและประชาชน จึงควรเป็นการทำให้ตำรวจมีความสามารถที่จะรักษาสถานะความอดทนอดกลั้นต่อความเจ็บใจ และปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเคารพเอื้อเฟื้อ กรุณาปรานีต่อประชาชน...ดำรงตนในยุติธรรม กระทำการด้วยปัญญา รักษาความไม่ประมาทเสมอชีวิต....นี่ต่างหากคือตำรวจมืออาชีพ ไม่ใช่กลายร่างไปเป็นม็อบ (Mob) เสียเอง !!

การกระทำการด้วยปัญญาในการจัดหาวัสดุ อุปกรณ์ ยานพาหนะ เครื่องมือ เครื่องใช้ที่มีประสิทธิภาพและเพียงพอต่อการปฏิบัติหน้าที่ในการควบคุมฝูงชนและการมียุทธวิธีที่เหมาะสมในการรับมือ รวมถึงการมียุทธวิธีที่เหมาะสมในการเสริมสร้างขวัญและกำลังใจของลูกน้องไพร่พลตำรวจต่างหากที่เป็นสิ่งที่ควรกระทำอย่างเร่งด่วน ดังนั้นหากตำรวจจะรวมกลุ่มกันอีกครั้ง ขอให้ตั้งคำถามกับรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องด้วยว่า...ไม่อายหรือที่เห็นตำรวจวิ่งหัวซุกหัวซุนหลบกระสุนโดยที่มือถือแผ่นพลาสติกและไม้โทรมๆ ?



ผมจะเป็นตำรวจมืออาชีพครับ
กราบขอบพระคุณผู้บังคับบัญชาที่ไว้วางใจ
ให้โอกาสผมทำหน้าที่ ผบ.ร้อย
ผู้ใดจะมาเป็นรัฐบาลผมก็จะเป็นตำรวจมืออาชีพ
ไม่เปลี่ยนแปลงครับ.......