วันอาทิตย์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

การรักษาความสงบงานมหรสพหมอลำซิ่ง...................

                   เชื่อไหมครับ.....ในรอบ 1 ปี หรือ 12 เดือน ในภาคอีสานจะมีการจัดงานรื่นเริงต่างๆ
ประมาณ 7-8 เดือน  คือตั้งแต่ออกพรรษา เดือน ต.ค. ไปจนถึงต้นฝนคือเดือน พ.ค.ของทุกปี...
ไม่ว่าจะเป็นงานบุญกฐิน...บุญแจกข้าว..(อุทิศส่วนกุศล)....ลอยกระทง....แข่งเรือ..ผ้าป่าสามัคคี...
ฯลฯ....อีก 4-5 เดือน ที่เหลือก็จะหยุดฉลองกันพากันทำไร่ทำนาตามประสา...
จะเห็นได้ว่าพวกผมซึ่งเป็นตำรวจ...อันมีหน้าที่ในการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
ของชาวบ้านก็จะได้พักด้วยประมาณ 4 เดือนคร้าบบบบบ....
และท่านทราบหรือไม่ว่ามหรสพที่พวกเราชาวอีสานนิยมชมชอบกันนักหนาก็คือ...หมอลำซิ่ง..
ครับผม....และที่สำคัญปัญหาในการชกต่อย..ตีรัน...ฟันแทง...ยิง..กันมากที่สุด..
ก็คือหมอลำซิ่ง...นี่แหละครับ.....
ผมเองได้มีโอกาสปฎิบัติงาน...ศึกษาปัญหา...ปรับปรุงวิธีการในการรักษาความปลอดภัย
มานานพอสมควร..จนสามารถเขียนกฎในการรักษาความสงบในงานมหรสพ
หมอลำซิ่งขึ้นมาได้....วันนี้จึงขอนำบทความดังกล่าวมาเผยแพร่
เผื่อมีท่านผู้มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะนำเอาไปปรับปรุงพัฒนาใช้ในงานของตนเอง
ก็ยินดีอย่างยิ่งคร้าบบบบบ....เพื่อความสงบของบ้านเมือง...และเพื่อเป็นการ
รักษาชีวิตของลูกหลานเราให้มีชีวิตที่ยืนยาวต่อไปนั่นเองคร้าบบบบบ....

                      การรักษาความสงบในงานมหรสพหมอลำซิ่ง
--------------------------------------------------------------------------------------------------------

                        ทำไม ผู้เขียนจึงต้องเน้นหรือระบุเฉพาะเจาะจงกับการรักษาความสงบในงานที่มีมหรสพประเภทหมอลำซิ่ง  ทำไมไม่กล่าวโดยรวมถึงการรักษาความสงบในงานมหรสพทุกๆประเภท  ก็เพราะเหตุว่าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสานอันเป็นพื้นที่ที่ผู้เขียนได้ทำงานอยู่นั้น  หมอลำซิ่งเป็นการแสดงที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากการแสดงประเภทอื่นๆ  การบริหารจัดการในการรักษาความสงบมีความสลับซับซ้อน มีความลำบากเป็นอย่างมาก เกิดเหตุตีรันฟันแทงกันตลอดทั้งงานสร้างความสูญเสียทั้งชีวิตร่างกายตลอดจนทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก  สาเหตุประการหนึ่งคือ หมอลำซิ่งซึ่งเป็นการแสดงอย่างหนึ่งของชาวอีสานมีเครื่องดนตรีประเภทวงสตริงแต่เนื้อร้องทำนองเป็นภาษาอีสานมีจังหวะทำนองที่เร่งเร็ว เร้าใจอีกทั้งชาวอีสานมีประเพณีนิยมในความสนุกสนานและชอบดื่มสุราหรือของมึนเมาในงานดังกล่าวอันเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้มีการกระทบกระทั่งกันได้โดยง่าย ประกอบกับการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการไปรักษา
ความสงบนั้นยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอหากปล่อยไว้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นที่จงเกลียดจงชังของประชาชนในพื้นที่ได้(สำนักงานแผนงานและงบประมาณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ,2548,หน้า 6)   
                        ในภาคอีสานหลังจากที่ชาวบ้านได้ทำการเก็บเกี่ยวพืชผลทางเกษตรเป็นที่เรียบร้อยแล้วโดยจะอยู่ช่วงประมาณเดือนธันวาคม ถึงเดือนเมษายนของปีต่อไปเป็นประจำทุกปี  ครอบครัวที่มีความพร้อมในปีนั้นๆจะพากันทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้บรรดาญาติผู้ที่ล่วงลับไปแล้วการทำบุญนี้มีชื่อภาษาถิ่นเรียกกันว่าการทำบุญแจกข้าว  ซึ่งจะเป็นการทำบุญครั้งยิ่งใหญ่ของครอบครัวหรือของวงศ์ตระกูล  ดังนั้นเจ้าภาพจะจัดหามหรสพมาทำการสมโภชอย่างยิ่งใหญ่อันเป็นการให้เกียรติญาติพี่น้องและแสดงถึงความกตัญญูต่อผู้บุพการีที่ได้ล่วงลับไปแล้ว  จากสถิติการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงและขอกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อไปทำการรักษาความสงบของ สภ.วานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ในรอบปี พ.ศ.2553  ปรากฏว่าได้มีการขออนุญาตจำนวน   55  ครั้ง  เป็นหมอลำซิ่งถึง   43 ครั้ง ที่เหลือเป็นมหรสพประเภทอื่น  คิดอัตราส่วนเป็นหมอลำซิ่งร้อยละ 78 มหรสพประเภทอื่นร้อยละ 22
                        หมอลำซิ่ง  เป็นการแสดงดนตรีประกอบการร้องลำและการร้องเพลงลูกทุ่งผสมผสานกันไปตลอดการแสดง จังหวะทำนองดนตรีที่ใช้ประกอบจะเป็นจังหวะเร็ว กระชับ เร้าใจ  นักร้องฝ่ายชายและหญิงจะออกมาแสดงพร้อมๆกันถ้อยคำสำนวนจะเน้นการเกี้ยวพาราสีกันและใช้คำพูดแบบตรงๆ มีสัญญลักษณ์ของเพศมาเกี่ยวข้องไม่อ้อมค้อมอยู่ตลอดเวลา  นอกจากนี้ยังมีบรรดาหางเครื่องนุ่งน้อยห่มน้อยออกมาเต้นโชว์ลีลากันอย่างสุดเหวี่ยง ท่าเต้นบางท่าแสดงออกกันอย่างเปิดเผยเน้นสัดส่วนอย่างเต็มที่และที่สำคัญที่สุดบริเวณหน้าเวทีจะมีบรรดานักเต้นเท้าไฟ
2
ทุกเพศทุกวัยไม่เว้นออกมาเต้นโชว์ลีลากันอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยจนแน่นขนัด   จึงเป็นเหตุให้เกิดมีการกระทบกระทั่งบาดหมางกันอยู่ตลอดเวลา อันเป็นสาเหตุให้มีการทำร้ายร่างกายกันจนบาดเจ็บล้มตายอยู่เนืองๆ อย่างเช่น  เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2552  เวลาประมาณ 23.30 น เกิดเหตุระเบิดกลางวงหมอลำซิ่ง  ที่วัดศิริมงคล บ้านโนนนาใหม่ ต.โนนสะอาด อ.ศรีบุญเรือง จ.หนองบัวลำภู เป็นเหตุให้มีผู้สียชีวิต 2 คน บาดเจ็บ 77 คน สาเหตุมาจากวัยรุ่นก่อเหตุทะเละวิวาทแล้วโยนระเบิดใส่กัน  (ไทยรัฐ,2552)  เป็นต้น  

ตารางสถิติการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงและขอกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจไปรักษาความสงบเรียบร้อยของ สภ.วานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ในรอบปี พ.ศ.2553

         
                        ประเภท
        
                    จำนวน/ครั้ง
             หมอลำซิ่ง
                              43
            หมอลำประเภทอื่น
                                 2
             ภาพยนตร์
                                  8
             ดนตรี/คาราโอเกะ
                                  2
             รวม
                               55



ตารางสถิติการก่อเหตุทะเลาะวิวาทในงานที่มีการแสดงมหรสพประเภทต่างๆของ
สภ.วานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ในรอบปี พ.ศ.2553


     ประเภท

  จำนวน/ราย    
บาดเจ็บเล็กน้อย/ราย
บาดเจ็บสาหัส/ราย

      ตาย/ราย
หมอลำซิ่ง
         73 
        69
             4
              -
หมอลำประเภทอื่น
           -
          -
              -
               -
ภาพยนตร์  
           5
          5
              -
               -
ดนตรี/คาราโอเกะ
            4
           4
              -
               -            
             รวม
         82
          78
              4
              -

3
กราฟแสดงจำนวนมหรสพที่มีการขออนุญาตของ สภ.วานรนิวาส จังหวัดสกลนคร
ในรอบปี พ.ศ.2553

                        เจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่โดยตรงในการรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณงาน
มหรสพหมอลำซิ่ง จากการปฏิบัติหน้าที่ที่ผ่านมาได้ประสบอุปสรรค์ปัญหาในการทำงานมาโดยตลอด ผู้เขียนได้ปฏิบัติงานด้านการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมในพื้นที่ภาคอีสานมาเป็นเวลานานร่วมสิบปี ได้นำพาผู้ใต้บังคับบัญชาไปปฏิบัติงานในการรักษาความสงบมหรสพหมอลำซิ่งมาโดยตลอด   พบว่าเมื่อก่อนวิธีปฏิบัติและจารีตการทำงานของตำรวจยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร  จึงได้คิดวิเคราะห์ถึงสาเหตุและทำการทดลองแก้ไขปัญหามาตามลำดับจนกระทั่งสามารถดำเนินการให้งานการรักษาความสงบเรียบร้อยดังกล่าวมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น  ลดการสูญเสียจากการถูกทำร้ายบาดเจ็บล้มตายได้เป็นจำนวนมาก ผู้เขียนเล็งเห็นความสำคัญและประโยชน์อันจะเกิดแก่สังคมโดยส่วนรวมจึงได้นำเสนอบทความวิธีการรักษาความสงบในงานมหรสพหมอลำซิ่งที่มีประสิทธิภาพดังต่อไปนี้
4
                                                       
สภาพปัญหาและการทำงานแบบเดิม
                        ก่อนวันงานเจ้าภาพจะเดินทางมายังที่ว่าการอำเภอเพื่อขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงในวันจัดงานจากนั้นทางอำเภอจะแจ้งให้ทางเจ้าภาพนำใบอนุญาตดังกล่าวมายังสถานีตำรวจเพื่อขอกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจไปคุมงานหรือไปรักษาความสงบเรียบร้อยตามกำหนดการนั้นๆ   เป็นหน้าที่ของฝ่ายป้องกันปราบปรามของสถานีตำรวจในการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจไปดูแลตามสถานภาพกำลังพลที่มีอยู่ซึ่งส่วนมากก็จะจัดกำลังพลได้ประมาณ  7-8 คน  บางครั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจก็แต่งเครื่องแบบบางครั้งก็แต่งชุดครึ่งท่อนหรือแต่งกายนอกเครื่องแบบก็มี  เวลาประมาณ 20.00 น. เจ้าภาพจะขึ้นเวทีกล่าวเปิดงานการแสดงของหมอลำซิ่ง โดยหมอลำซิ่งจะใช้เวลาแสดงจำนวน 6 ชั่วโมง  ซึ่งจะเลิกหรือจบการแสดงเวลาประมาณ    02.00 น.ของวันรุ่งขึ้น  การออกมาเต้นรำหน้าเวทีจะมีขึ้นตั้งแต่เพลงแรกจนถึงเพลงสุดท้าย  ผู้ที่ออกไปเต้นไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิงจะพากันดื่มสุรากันไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบหรือเกินครึ่ง  หลังจากดื่มกินกันไปสักระยะหนึ่งประมาณ 23.00 น. ต่างคนต่างเมาก็จะเกิดการกระทบกระทั่งกันหรือมีการทะเลาะวิวาทกันตลอดเวลา เมื่อชกต่อยกันครั้งใดหมอลำก็จะหยุดการแสดงชั่วคราวเป็นอย่างนี้สลับกันไปตลอดงาน เมื่อมีเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจจะยังไม่รีบร้อนเข้าไปแยกคู่กรณีหรือเข้าไประงับเหตุ  คงปล่อยให้มีการต่อสู้กันสักระยะหนึ่งก่อนแล้วค่อยเข้าไปแยกคู่กรณีทีหลัง เนื่องจากกำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจมีน้อยไม่เพียงพอ   อีกทั้งหากรีบเข้าไปอาจถูกลูกหลงได้เนื่องจากในแต่ละงานบริเวณหน้าเวทีจะมีนักเต้นประมาณ 100 200 คน ซึ่งเกินกำลังความสามารถของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมผู้ก่อเหตุได้แล้วจะแบ่งกำลังบางส่วนนำตัวผู้ต้องหาส่งพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจเพื่อดำเนินการต่อไปยิ่งทำให้กำลังพลเหลืออยู่ที่บริเวณงานน้อยลงอีก สภาพเหล่านี้คือสภาพดั้งเดิมที่เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติและประสบอยู่ตลอดเวลา อันเป็นสาเหตุให้ประชาชนไม่ได้รับการคุ้มครองดูแลด้านความปลอดภัยจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเท่าที่ควร

วิเคราะห์ปัญหา
                        1.กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไปปฎิบัติงานมีน้อยเกินไป ไม่สามารถควบคุมฝูงชนที่มีการดื่มสุรากันเป็นจำนวนมากได้
                        2.บรรดานักเต้นส่วนมากดื่มสุราแล้วมักจะพูดจาไม่รู้เรื่อง มีการพูดจาก้าวร้าว ถากถางใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติงาน

5

                        3.ยานพาหนะของเจ้าหน้าที่ตำรวจมีไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติงานส่วนมากจะได้รถยนต์สายตรวจตราโล่ไปใช้ในการทำงานเพียง 1 คัน ต่อ 1 งาน เมื่อมีการใช้รถคันดังกล่าวนำผู้ต้องหาไปส่งพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจแล้วบริเวณงานก็จะไม่มีรถยนต์ที่เป็นสัญลักษณ์ของตำรวจจอดอยู่ เป็นเหตุให้มีผู้เข้าใจได้ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่อยู่ที่งานนั้นแล้วก็จะเกิดเหตุวิวาทกันบ่อยขึ้น
                        4.กำลังเสริมที่มาช่วยงาน เช่น อปพร. กำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน   อาสาตำรวจบ้าน  ไม่ทราบว่าตนเองทำหน้าที่อะไร หัวหน้าชุดที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ชี้แจงหรือมอบหมายหน้าที่ให้ ทำให้พวกเขาเหล่านั้นพากันยืนออกันอยู่หรือพากันเดินไปเดินมาอย่างไร้จุดหมาย จากนั้นก็จะทยอยพากันหนีกลับบ้านไป
                        5.อุปกรณ์ในการทำงานไม่ครบถ้วนหรือไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติงาน อาทิเช่น ขาดแคลนเสื้อสะท้อนแสง  กุญแจมือ  กระบองไม้  กระบองไฟ  ไฟฉาย  ไฟสปอร์ตไลท์  เสื้อกันกระสุน   วิทยุสื่อสาร  เป็นต้น             
6.การแสดงของหมอลำซิ่งมักจะเล่นเพลงที่มีจังหวะเร็ว ทำนองกระแทกกระทั้น เร้าใจ และบรรเลงติดต่อกันต่อเนื่องยาวนานหลายๆเพลง เป็นเหตุให้บรรดานักเต้นที่แออัดกันอยู่หน้าเวทีมีการกระทบกระทั่งกันได้มากยิ่งขึ้น
                        7.กำลังพลที่ปฏิบัติงานมีจำนวนน้อยไม่เพียงพอที่จะทำงานอย่างครอบคลุมบริเวณงาน
                        8.เจ้าหน้าที่ตำรวจขาดขวัญกำลังใจในการทำงาน เนื่องจากผู้บังคับบัญชาไม่ให้ความสำคัญกับงานนี้ ปล่อยให้ผู้ใต้บังคับบัญชาพากันทำงานตามลำพัง
                        9.ระยะเวลาในการทำงานยาวนานเกินไปกว่างานจะเลิกประมาณ 02.00 น. และกว่าที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเคลีย์พื้นที่และกลับถึงบ้านพักก็เป็นเวลาประมาณ 04.00 น. ตื่นเช้าบางคนก็ต้องทำงานประจำของตนเองอีก ทำให้กำลังพลมีความเหนื่อยล้า

กฎการทำงาน  10   ข้อ
                        จากการวิเคราะห์สภาพปัญหาข้างต้นแล้วโดยรวมจะเห็นได้ว่างานลักษณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ค่อยชอบที่จะไปสักเท่าไร เพราะพบเจอแต่ปัญหาสารพัด  กลับจากการทำงานทีไรก็จะได้รับแต่คำตำหนิจากชาวบ่นว่าไม่สามารถควบคุมงานได้ ตำรวจปล่อยให้มีการทำร้ายตบตีกันในงาน หรือเกิดเหตุแล้วจับคนร้ายไม่ได้ ดั่งนี้ เป็นต้น  ซึ่งก็นับว่าจริงอย่างที่ชาวบ้านเขาว่า   ซึ่งอันที่จริงแล้วงานนี้เป็นงานที่ตำรวจต้องรับผิดชอบโดยตรง จะหลีกเลี่ยงก็ไม่ได้
6

ถ้าหากเราคิดใหม่ ทำใหม่ สร้างวิกฤติให้เป็นโอกาสก็น่าจะได้รับคำชมเชยจากประชาชนและยังผลประโยชน์ให้แก่ประชาชนอีกทางหนึ่ง   ดังนั้นผู้เขียนจึงได้ทำการศึกษา คิดวิเคราะห์ ทดสอบ ทดลองปฏิบัติตามแผนต่างๆมานานเป็นระยะเวลาประมาณ 3 ปี ประกอบกับผู้เขียนมีโอกาสไปทำงานเป็นหัวหน้าหน่วยที่ สภ.โพนงาม อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นโรงพักระดับตำบลผู้เขียนสามารถสั่งใช้กำลังพลและวัสดุอุปกรณ์ได้ทุกอย่างที่มีอยู่ในหน่วยโดยไม่ต้องขออนุญาตจากผู้ใด  ทำให้การทำงานสั่งการและดำเนินตามแนวความคิดได้อย่างรวดเร็วทันใจ  ผู้เขียนได้วางกฎของการทำงานไว้ทั้งหมด  10   ข้อ เพื่อให้ง่ายแก่การจดจำ รายละเอียดของข้อปฏิบัติมีดังต่อไปนี้
                        ข้อที่ 1  ต้องไปตรวจสถานที่จัดงานทุกครั้ง   เมื่อได้รับแจ้งหรือได้รับการร้องขอให้ไปรักษาความสงบจากเจ้าภาพ ซึ่งจะมีเวลาเพียงพอที่จะเดินทางไปยังบ้านเจ้าภาพเพื่อไปดูสถานที่จัดงานว่าเป็นอย่างไร  โดยต้องจัดทำแผนที่ แผนผังบริเวณงานให้ละเอียด ทั้งนี้ให้ตรวจสถานที่จัดงานร่วมกับเจ้าภาพ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้นำชุมชน ซักถามว่าเวทีตั้งอยู่ตรงไหน ทางเข้าทางออกเป็นอย่างไร ขนาดเวทีกว้างใหญ่แค่ไหน แสงสว่างเพียงพอหรือไม่ เป็นต้น ทั้งนี้มุ่งเน้นให้เกิดผลทางจิตวิทยาว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจมีความสนใจและให้ความสำคัญกับงานนั้นๆ และมีประโยชน์ต่อการจัดทำแผนปฏิบัติการว่าจะวางกำลังกันอย่างไรอีกด้วย อีกทั้งสร้างความคุ้นเคยกับเจ้าภาพและผู้นำชุมชนซึ่งเป็นจิตวิทยาในการกระตุ้นให้บรรดาผู้นำชุมชนได้มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาความสงบในชุมชนของตนเองโดยชี้ให้เห็นความสำคัญในการร่วมมือกันทำงานระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับคนในชุมชนแล้วขอร้องและชักชวนให้พวกเขาเหล่านั้นมาช่วยงานด้านการรักษาความสงบร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในฐานะผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานนั่นเอง สำหรับรูปแบบการทำงานร่วมกันจะได้กล่าวในข้อต่อไป
                        ข้อที่ 2 ต้องออกแผนหรือคำสั่งปฏิบัติการทุกครั้ง  ในการไปทำงานทุกครั้งจะต้องมีการวางแผนการทำงานแล้วออกแผนปฎิบัติการหรือออกคำสั่งปฏิบัติการเป็นหนังสือไว้ทุกครั้ง ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ 2 ประการ คือ ประการแรกเมื่อมีแผนหรือคำสั่งมอบหมายหน้าที่ให้ข้าราชการตำรวจแต่ละนายทำหน้าที่แบบระบุไว้ให้ชัดเจนแล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจตลอดจนกำลังเสริมที่มาช่วยก็จะเกิดความมั่นใจในการทำงาน รู้ตำแหน่งที่ตนเองจะต้องประจำอยู่ สามารถประสานการปฏิบัติกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ลักษณะแบ่งงานกันทำไม่ไปรวมตัวกันอยู่ที่เดียวกันหรืออยู่กันแบบกระจุกเดียวซึ่งสามารถกระจายกำลังกันได้อย่างครอบคลุมพื้นที่  ประการที่สองเมื่อได้ออกคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรถูกต้องตามระเบียบแล้วหากมีเหตุร้ายเกิดขึ้นจนเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานไม่ว่าจะเป็นตำรวจหรือ อปพร. หรืออาสาตำรวจบ้านได้รับบาดเจ็บหรือ
7

สูญเสียชีวิต พวกเขาก็จะได้รับสิทธิประโยชน์จากทางราชการในการให้การช่วยเหลือเยียวยาตามระเบียต่อไป อันเป็นการส่งเสริมขวัญและกำลังใจของผู้ปฏิบัติงานอีกทางหนึ่ง
                        ข้อที่ 3  ต้องขอกำลังเสริม โดยต้องติดต่อประสานงานขอกำลังเสริมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถ้าเป็น อปพร.ให้ทำหนังสือขอกำลังจากนายกเทศบาล หรือนายก อบต.
ซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการ อปพร.โดยตำแหน่ง เพื่อที่ทาง เทศบาล หรือ อบต.จะได้เก็นหนังสือขอกำลังดังกล่าวไว้ใช้เป็นหลักฐานในการจ่ายค่าตอบแทนให้กับ อปพร.ที่เดินทางไปปฏิบัติงานต่อไป  นอกจาก อปพร.แล้วในชุมชนจะมีกำลังเสริมได้อีกบางส่วน เช่น อาสาตำรวจบ้าน  กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน  ซึ่งมีหน้าที่ในการดูแลความสงบสุขในชุมชนของตนอยู่แล้วทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องเป็นฝ่ายประสานนัดหมายให้มาร่วมกันทำงานด้วย และที่สำคัญอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับกำลังเสริมในชุมชนก็คือบรรดาผู้นำเยาวชนหรือนักเลงหัวไม้ในชุมชนที่มีการจัดงานต้องพยายามชักชวนให้เข้ามาร่วมทำงานตามแผนในวันงานให้ได้เพราะบรรดาผู้นำเยาวชนหรือบรรดาหัวโจกเหล่านี้หากเราให้ความสำคัญกับพวกเขามอบหมายงานให้ทำอย่างเป็นระบบพวกเขาซึ่งมีความสามารถในการรู้จักบรรดานักเลงต่างหมู่บ้านก็จะเป็นสายข่าวให้กับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เป็นอย่างดีและผลพลอยได้อีกประการก็คือพวกเขาซึ่งปกติเมื่อมีงานมหรสพก็จะเป็นผู้ที่ก่อเหตุร้ายอยู่เนืองๆก็จะไม่มีโอกาสได้กระทำการเช่นนั้นอีกเพราเราดึงเขาเข้ามาเป็นพวกแล้วนั่นเอง
                        ข้อที่ 4  ช่วงเวลาปฏิบัติงานต้องมีช่วงระยะเวลาที่แน่นอนและใช้เวลาไม่ยาวนานจนเกินไป กล่าวคือเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าหมอลำซิ่งจะใช้เวลาทำการแสดงประมาณ 6 ชั่วโมงเท่านั้น  ส่วนมากก็จะเริ่มที่เวลาประมาณ 20.00 น. เริ่มชกต่อยทำร้ายกันเวลาประมาณ 23.00 น. เลิกการแสดงเวลาประมาณ 02.00 น.ของวันรุ่งขึ้น    ซึ่งแต่เดิมนั้นผู้บังคับบัญชาจะนัดหมายเจ้าหน้าที่ตำรวจและกำลังเสริมตั้งแต่เวลาประมาณ 18.00 น. ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่จะมีการแสดงประมาณ 2 ชั่วโมง โดยมีจุดมุ่งหมาย 3  ประการคือ  ประการแรกเป็นการไปแสดงกำลังปรากฎกายให้เจ้าภาพและบรรดาวัยรุ่นหรืออันธพาลเห็นว่าในงานนี้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเดินทางมารักษาความสงบเป็นการแสดงกำลังเพื่อตัดไม้ข่มนามไม่ให้มีการก่อเหตุร้ายในงานได้( พงษ์พัฒน์ ฉายาพันธ์ ,2537หน้า 100)  ประการที่สองเพื่อตั้งจุดตรวจค้นหาอาวุธหรือสิ่งผิดกฎหมายแต่เนิ่นๆอันเป็นการป้องกันการนำอาวุธมาใช้ในงาน และประการสุดท้ายเมื่อเดินทางไปเร็วทางเจ้าภาพจะจัดหาอาหารและเครื่องดื่มมารับรองเจ้าหน้าที่ตำรวจตามประเพณีที่ทำกันมาโดยตลอด  ซึ่งถ้ามองผิวเผินก็น่าจะเป็นเหตุผลที่ดี  แต่ภาคปฏิบัติจริงๆแล้วก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดีกล่าวคือ กรณีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งหมดและกำลังเสริมอันมี อปพร.และอาสาสมัครต่างๆเดินทางไปถึงบริเวณงานเร็วจนเกินไป
8

ทั้งๆที่หมอลำซิ่งยังไม่เปิดการแสดงนั้นระหว่างที่มีการรอการแสดงทางเจ้าภาพจะต้องจัดหาอาหารเครื่องดื่มมาทำการต้อนรับเจ้าหน้าที่อย่างแน่นอนซึ่งเป็นช่องว่างที่จะทำให้เจ้าหน้าที่ดังกล่าวแอบดื่มสุราจนเกิดอาการเมามายเสียกิริยา  เมื่อถึงเวลาปฏิบัติหน้าที่ก็จะไม่มามารถปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ   อีกทั้งขณะที่พูดจากับประชาชนหรือเข้าทำการจับกุมบุคคลที่ก่อเหตุทะเละวิวาทก็จะถูกโต้แย้งว่าเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานก็เมาสุราด้วยยังจะไปจับกุมคนอื่นในข้อหาเมาสุราก่อการวิวาทอีก   จึงเป็นผลเสียอย่างมากต่อการปฏิบัติหน้าที่ วิธีแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวคือให้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเพียงส่วนน้อยประมาณ 2-3 คน เดินทางล่วงหน้าไปก่อนโดยให้ไปถึงบริเวณงานก่อนพระอาทิตย์ตกดิน
หรือเวลาประมาณ 16.00 น เพื่อเป็นผู้ประสานกับทางเจ้าภาพไม่ว่าจะด้านการจัดสถานที่ ด้านการจัดการจราจร  หรืออื่นๆแล้วแต่ความเหมาะสม  สำหรับกำลังส่วนใหญ่ให้ติดตามไปถึงบริเวณงานในระหว่างเวลาประมาณ 20.00 21.00 น.แล้วแต่ระยะทางใกล้ไกล   เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ปฏิบัติงานรับประทานอาหารไปจากบ้านพักของตนเองเสียก่อน    เนื่องจากเมื่อรับประทานอาหารอิ่มแล้วก็จะไม่สามารถดื่มกินสุราอาหารที่ทางเจ้าภาพจัดหามาให้ได้  อีกทั้งระยะเวลาในการยืนเพื่อปฏิบัติงานก็จะไม่นานจนเกินไป  โดยควรใช้เวลาในการยืนทำงานตั้งแต่เวลาประมาณ 21.00 น. 02.00 น. ของวันถัดไป   หรือไม่เกิน  5 ชั่วโมง เป็นอย่างมาก เพราะในการทำงานด้านนี้จะต้องยืนแสดงกำลังตลอดเวลาหากเหนื่อยก็ให้จัดเวรสลับกันนั่งพักเป็นช่วงๆไป
                        ข้อที่ 5  อุปกรณ์ในการทำงานต้องพร้อม  ความพร้อมของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติซึ่งจะต้องแต่งเครื่องแบบให้เรียบร้อยทุกนายต้องประกอบด้วย
                                    1.) รถยนต์สายตรวจชนิด 4 ประตู   จำนวน 1 2 คัน
                                    2.) รถยนต์บรรทุก 6 ล้อ สำหรับควบคุมผู้ต้องหา  จำนวน 1 คัน  (ถ้ามี)
                                    3.) เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องพกพาอาวุธปืนทุนคน
                                    4.) เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องมีกุญแจมือทุกคน
                                    5.) เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องมีกระบองไม้ประมาณครึ่งหนึ่งของยอด
                                          กำลังพล
                                    6.) เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องมีไฟฉายประจำกายทุกคน
                                    7.) เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องสวมใส่เสื้อเกราะ (ถ้ามี)
                                    8.)  เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องสวมเสื้อสะท้องแสงทุกคน
                                    9.) กำลังเสริมถ้าไม่มีเครื่องแบบหรือไม่มีเสื้อสะท้อนแสงให้สวมปลอก                                           แขนบอกฝ่ายทุกคน

9

                                    10.) กล้องถ่ายรูปสำหรับถ่ายภาพนิ่ง   จำนวน  1   กล้อง
                                     11.) กล้องวีดีโอสำหรับถ่ายภาพเคลื่อนไหว  จำนวน 1 กล้อง
                                    12.)  เครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์จากลมหายใจ  จำนวน 1 2  เครื่อง
                                    13.)  อุปกรณ์และเครื่องมือเครื่องใช้ในการบันทึกประวัติผู้ต้องหา
                                              จำนวน 1 ชุด (จัดเตรียมไว้ที่ที่ทำการ )
                        ข้อที่  6   จัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเพียงพอ โดยให้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกแผนกงานที่ว่างเว้นหน้าที่ไปร่วมในการปฏิบัติให้มากที่สุดเท่าที่จะจัดไปได้  เนื่องจากจะมีคนเมาสุราและพากันเต้นรำจำนวนมากประมาณ 100 200 คน  ดังนั้นกำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจและกำลังเสริมรวมกันแล้วจะต้องไม่น้อยกว่า  50 70 คน การทำงานจึงจะมีประสิทธิภาพ
                        ข้อที่ 7  แผนการปฏิบัติต้องละเอียดและชัดเจน    เมื่อได้เดินทางไปตรวจสถานที่จัดงานแล้วจะต้องกำหนดแผนการปฏิบัติให้ครอบคลุมและระเอียดรอบคอบ ให้ปรากฏชุดปฏิบัติการและมีหน้าที่ดังรายละเอียดต่อไปนี้
-          ชุดตั้งจุดตรวจค้นทางเข้า- ออก ทำการตรวจค้นตัวบุคคลป้องกันการนำอาวุธเข้าไปในงาน
-          ชุดเคลื่อนที่เร็วประจำอยู่รอบๆบริเวณงาน มีหน้าที่ปรากฎกายและแสดงยานพาหนะรถยนต์สายตรวจให้เห็นเด่นชัด อีกทั้งเข้าทำการตรวจค้นตัวและสลายกลุ่มวัยรุ่นที่มักจะพากันรวมตัวกันอยู่รอบๆบริเวณงาน และมีหน้าที่ในการนำตัวผู้ต้องหาที่เป็นผู้มีอิทธิพลหรือพฤติกรรมเอะอะโวยวายมีเพื่อนจำนวนมากไปส่งยังสถานีตำรวจเพื่อเป็นการดึงเพื่อนๆของผู้ต้องหาให้พากันออกไปจากบริเวณงานโดยเดินทางติดตามผู้ต้องหาไปที่สถานีตำรวจอันเป็นกลยุทธในการดึงบรรดาอันธพาลให้ออกจากบริเวณงานได้วิธีการหนึ่ง
-          ชุดสายตรวจเดินเท้า  มีหน้าที่ออกตรวจค้นหาอาวุธที่บรรดากลุ่มวัยรุ่นพากันซุกซ่อนไว้โดยรอบบริเวณงาน โดยชุดปฏิบัติการนี้ให้ทำงานร่วมกับชุดบันทึกภาพ
-          ชุดประจำรถควบคุมผู้ต้องหา  ต้องจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ประจำที่รถควบคุมผู้ต้องหาเพื่อป้องกันการแย่งชิงตัวผู้ต้องหา

                                 10
-          ชุดบันทึกภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว  มีหน้าที่ในการตระเวนบันทึกภาพกลุ่มวัยรุ่นที่พากันจับกลุ่มกันอยู่บริเวณงาน และขณะที่กำลังพากันเต้นรำอยู่หน้าเวที เพื่อเป็นการกดดันไม่ให้กระทำผิดชกต่อยทำร้ายกันเนื่องจากภาพที่ได้จะทำให้ผู้ที่จะก่อเหตุเกรงกลัวว่าจะใช้เป็นพยานหลักฐานมัดตัวพวกเขาเมื่อทำการก่อเหตุหรือเรียกอีกอย่างคือการเก็บหลักฐานก่อนเกิดเหตุนั่นเอง
-          ชุดยืนขนาบข้างเวทีทั้งด้านซ้ายและด้านขวาของเวที ชุดนี้จะต้องจัดผู้ที่มีร่ายกายแข็งแรงและมีจำนวนมากพอสมควร เพราะจะต้องยืนแสดงกำลังตลอดที่มีการแสดงของหมอลำซิ่ง  หากมีการชกต่อยทำร้ายกันบริเวณด้านหน้าของเวทีชุดไหนที่อยู่ใกล้ที่สุดให้เข้าไปนำตัวผู้ต้องหาออกมาแล้วนำไปควบคุมไว้ที่รถควบคุมผู้ต้องหาต่อไป
-          ชุดซุ่มโป่งหลังเวที   ชุดนี้มีหน้าที่คอยระวังด้านหลังของเวทีซึ่งมักจะมีวัยรุ่นไปก่อกวนบรรดาหมอลำและหางเครื่องที่กำลังรอขึ้นไปแสดงอยู่บริเวณด้านหลังของเวที และคอยสกัดจับบรรดาวัยรุ่นที่ทำร้ายกันแล้ววิ่งหลบหนีไปทางด้านหลังเวที
 ข้อที่ 8  ต้องมีการเข้าแถวชี้แจงภารกิจปล่อยแถวออกปฏิบัติหน้าที่และตรวจสอบยอดกำลังเมื่องานเลิกทุกครั้ง  เหตุผลของการเข้าแถวทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและกำลังเสริมก็เพื่อแสดงกำลังให้ชาวบ้านเห็นว่างานนั้นๆมีกำลังเจ้าหน้าที่มาปฏิบัติในการรักษาความสงบเป็นจำนวนมากสร้างความอุ่นใจให้กับประชาชนและเป็นการให้เกียรติแก่กำลังเสริมที่เป็น อปพร. , กำนัน, ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำเยาวชนที่มาร่วมงานอีกทางหนึ่งด้วยเพื่อที่พวกเขาเหล่านั้นจะได้มีขวัญและกำลังใจในการทำงานอีกทั้งจะได้รับทราบนโยบายพร้อมทั้งได้ทราบว่าตนเองมีหน้าที่อย่างไร  ส่วนการเข้าแถวตรวจสอบยอดกำลังเมื่องานเลิกก็เพื่อตรวจดูว่ากำลังฝ่ายเรามีการสูญเสียหรือไม่อยู่ครบหรือไม่และป้องกันการละทิ้งหน้าที่หลบหนีกลับบ้านไปก่อนของกำลังพลเป็นการป้องกันการเอารัดเอาเปรียบกันของเพื่อนร่วมงานซึ่งมักจะมีอยู่เป็นประจำ
ข้อที่ 9  การประสานกับทางคณะหมอลำซิ่ง   เพื่อให้ทางคณะหมอลำเล่นเพลงเร็วและเพลงช้าสลับกันไป  ไม่ควรเล่นเพลงเร็วติดต่อกันเป็นเวลานานอันอาจจะเกิดการกระทบกระทั่งกันได้โดยง่าย  และขอให้หมอลำชวนนักเต้นและผู้ชมพูดคุยโต้ตอบกันเป็นระยะตลอดที่มีการแสดงก็จะเป็นหนทางหนึ่งที่ให้การแสดงช้าลงได้
                     ข้อที่ 10  ต้องจัดทำประวัติผู้ต้องหาไว้ทุกราย    ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องปรามไม่ให้ผู้ต้องหาเหล่านั้นไปกระทำผิดซ้ำซากอีกในคราวต่อไปเพราะพวกเขาจะเกรงกลัวการบันทึกประวัติที่มีทั้งภาพถ่าย รายละเอียดเกี่ยวกับพฤติการณ์ในการกระทำวามผิด

11
ประวัติบุคคล  เนื่องจากเมื่อพวกเขามีประวัติเก็บไว้ที่สถานีตำรวจแล้วหากกระทำผิดอีกจะถูกติดตามจับกุมตัวได้โดยง่ายนั่นเอง

บทสรุป
                        ผู้เขียนเห็นว่าหากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ร่วมมือกับกำลังเสริมไม่ว่าจะเป็น อปพร.  กำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน  อาสาสมัครตำรวจบ้าน และผู้นำเยาวชน ปฏิบัติตามแนวทางการทำงานทั้ง 10  ข้อข้างต้นแล้ว  ผลของการปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาความสงบในงานที่มีมหรสพประเภทหมอลำซิ่ง  ซึ่งเป็นที่นิยมแสดงอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะต้องมีประสิทธิภาพ  สามารถลดการสูญเสียชีวิตร่างกายตลอดจนทรัพย์สินของประชาชนได้เป็นอย่างมาก  อันจะทำให้ภาพพจน์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการทำงานด้านการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนมีภาพพจน์ที่ดีขึ้นกว่าเดิม

เอกสารอ้างอิง

-กองแผนงาน 2  สำนักงานแผนงานและงบประมาณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ. (2548). คู่มือเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานชุมชนและมวลชนสัมพันธ์. โรงพิมพ์ตำรวจ. กรุงเทพมหานคร.
-พงษ์พัฒน์ ฉายาพันธ์. (2537). ความรู้เบื้องต้นการปฏิบัติงานสายตรวจ.สำนักพิมพ์วันใหม่.กรุงเทพมหานคร.
-น.ส.พ.ไทยรัฐ.  ฉบับประจำวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2552.  ระเบิดกลางวงหมอลำซิ่งตาย 2 บาดเจ็บเฉียด 100.
....................................................


เป็นไงบ้างครับ....เอกสารนี้ผมเขียนขึ้นเมื่อต้นปี พ.ศ.2554 ช่วงที่ไปอบรม รร.ผกก.
รุ่นที่ 78 ที่ รร.นรต. อ.สามพราน ครับ

ภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจและ อปพร.
ในการรักษาความสงบมหรสพหมอลำซิ่ง



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น