วันอังคารที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

บัญญัติ 10 ประการสำหรับผู้ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ............

 


ถูกต้องแล้วครับ......วันนี้ลุงธีจะขอนำเสนอถึงข้อบัญญัติ

10 ประการ สำหรับผู้ที่รักการออกกำลังกาย......

หรือผู้ที่อยากจะมีชีวิตที่ยืนยาว.........

มาครับมา...พากันมาออกกำลังกายกัน...เพื่อสุขภาพ

ของพวกเรา....เพื่อหุ่นหรือรูปร่างของเราจะได้เพรียวลม..

จะนวยนาดไปไหนมาไหนจะได้ไม่อายใคร.......


เพื่อความคล่องแคล่วว่องไวในการทำงานประจำวัน...

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจพวกเราจะต้องหุ่นดีๆ....


เวลาวิ่งไล่ติดตามจับกุมคนร้ายจะได้......จับได้ไล่ทัน..


....นะคร้าบบบบบบบบบบบบ....


...................................


                                    บัญญัติ 10 ประการสำหรับผู้ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ


เพื่อให้การออกกำลังกายได้ผลดีเต็มที่และไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ผู้ที่ต้องการใช้การออกกำลังกายเพื่อส่งเสริมสุขภาพ พึงยึดข้อปฏิบัติ 10 ข้อดังนี้
  1. การประมาณตน สภาพร่างกายและความเหมาะสมกับกีฬาชนิดต่าง ๆ ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แม้ในคนคนเดียวกันในช่วงเวลาหนึ่งกับอีกช่วงเวลาหนึ่งก็แตกต่างกันได้ การจะได้ประโยชน์จากการออกกำลังกายมีกฎตายตัวว่าจะต้องเป็นไปตามความเหมาะสมกับสภาพร่างกาย หากการออก กำลังกายเบาเกินไปก็ได้ผลน้อยหรือไม่ได้ผล แต่หากออกกำลังกายหนักเกินไปนอกจากไม่ได้ผลแล้วยังเป็นอันตรายแก่สุขภาพอย่างยิ่งด้วย ข้อสังเกตที่สำคัญว่าการออกกำลังกายหนักเกินไปหรือไม่ ให้สังเกตจากความเหนื่อยคือ หากออกกำลังกายถึงขั้นเหนื่อยแล้วยังสามารถทำต่อไปได้ด้วยความหนักเท่าเดิมโดยไม่เหนื่อยเพิ่มขึ้น และเมื่อพักแล้วไม่เกิน 10 นาทีก็รู้สึกหายเหนื่อยแม้จะมีความอ่อนเพลียอยู่บ้าง แต่ในวันรุ่งขึ้นก็หายอ่อนเพลียกลับสดชื่นเช่นเดิมหรือมากกว่า แสดงว่าการออกกำลังกายนั้นไม่หนักเกินไป แต่ถ้ารู้สึกเหนึ่อยแล้วฝืนต่อไปกลับเหนื่อยมากขึ้นจนหอบ แม้พักแล้วเป็นชั่วโมงก็ยังไม่หายเหนื่อย และในวันรุ่งขึ้นก็ยังอ่อนเพลียอยู่ แสดงว่าการออกกำลังกายนั้นหนักเกินไป การออกกำลังกายครั้งใหม่จะต้องรอให้ร่างกายกลับสู่สภาพเดิมก่อนแล้วค่อยเริ่มด้วยความหนักที่น้อยกว่าเดิม จึงจะเป็นการปฏิบัติที่เพิ่มพูนประสิทธิภาพ
  2. การแต่งกาย มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งในด้านการเคลื่อนไหว ความอดทน และจิตวิทยาการออกกำลังกายและการเล่นกีฬาแต่ละอย่างย่อมมีเครื่องแต่งกายที่เหมาะสมทั้งเสื้อ กางเกง และรองเท้า เสื้อผ้าที่รุ่มร่าม รองเท้าที่ไม่เหมาะกับเท้าหรือสภาพสนาม ย่อมทำให้การเคลื่อนไหวไม่คล่องตัวเท่าที่ควรและยังเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุ ในด้านความอดทน ต้องคำนึงถึงการระบายความร้อนออกจากร่างกายเป็นสำคัญ เพราะในระหว่างที่ออกกำลังกาย ร่างกายจะมีความร้อนเกิดขึ้นมาก หากระบายออกไม่ทัน ความร้อนที่สะสมขึ้นจะเป็นตัวจำกัดการออกกำลังกายต่อไปและทำอันตรายต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ในกรณีที่เสื้อผ้ามิดชิดเกินไปหรือเสื้อผ้าทำด้วยวัสดุสังเคราะห์ที่มีคุณสมบัติในการซับเหงื่อได้น้อย จะทำให้การระบายความร้อนออกจาก ร่างกายเป็นไปด้วยความลำบากยิ่งขึ้น
เรื่องที่ปฏิบัติผิดกันอยู่เสมอคือ การใช้ชุดวอร์มโดยพร่ำเพรื่อ จุดประสงค์หลักในการใส่ชุดวอร์มคือ ทำให้ร่างกายอบอุ่นเร็ว (Warm up) เมื่อความอบอุ่นของร่างกายสูงเพียงพอแล้ว การทำงานของ ร่างกายจะได้สมรรถภาพสูงสุด แต่ถ้าอบอุ่น (ร้อน) เกินไปสมรรถภาพทางกายจะกลับลดลง สำหรับสภาพอากาศในประเทศไทย การใช้ชุดวอร์มเกือบจะไม่มีความจำเป็นเลย เพราะอากาศร้อนอยู่แล้ว ถ้าจะใช้ก็ไม่ควรจะใช้ในระหว่างการฝึกซ้อมหรือออกกำลังที่ใช้ความอดทน ปกติควรใช้เสื้อผ้าสีอ่อน

  1. เลือกเวลาและดินฟ้าอากาศ ทุกคนควรกำหนดเวลาฝึกซ้อมที่แน่นอนไว้ แต่ควรเป็นเวลาเดียวกันทุกวัน เพราะมีผลต่อการปรับตัวของร่างกาย การฝึกซ้อมตามความสะดวกโดยไม่มีการกำหนดเวลาแน่นอนและการฝึกในสภาพอากาศร้อนจะทำให้เหนื่อยเร็วและได้ปริมาณน้อยกว่าในอากาศเย็น จึงไม่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการฝึกความอดทน การเลือกอากาศอาจทำได้ยากหรือทำไม่ได้ แต่การเลือกเวลาทุกคนทำได้ โดยเฉพาะเวลาเช้าตรู่และตอนเย็นอุณหภูมิต่ำกว่ากลางวัน จึงเหมาะสำหรับการออกกำลังกายเพื่อความอดทน ส่วนการฝึกด้านแรงกล้ามเนื้อและความเร็วระยะสั้น อาจทำในอากาศร้อนได้อย่างไรก็ตามในการฝึกซ้อมเพื่อแข่งขัน จะต้องคำนึงถึงเวลาที่ใช้แข่งขันด้วย แต่ไม่จำเป็นต้องฝึกซ้อมในเวลานั้นทุกครั้งไป
  2. สภาพของกระเพาะอาหาร ในเวลาอิ่มจัดกระเพาะอาหารซึ่งอยู่ใต้กะบังลมจะเป็นตัวทำให้การขยายของปอดเป็นไปไม่ได้ดีเท่าที่ควร เพราะกะบังลมไม่อาจหดตัวต่ำลงได้มาก ในขณะเดียวกันในระบบไหลเวียนเลือดก็จะต้องแบ่งเลือดส่วนหนึ่งไปใชัในการย่อยและดูดซึมอาหาร ทำให้เลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อลดน้อยลง จึงเป็นผลเสียต่อการออกกำลังกาย ยิ่งกว่านั้นในกีฬาที่มีการกระทบกระแทก กระเพาะอาหารที่เต็มแน่นจะแตกได้ง่ายกว่ากระเพาะอาหารที่ว่าง หลักทั่วไปจึงให้งดอาหารหนักก่อนออกกำลังกาย 3 ชั่วโมง อย่างไรก็ตามกีฬาที่ใช้ความอดทนเป็นชั่วโมง ๆ เช่น วิ่งมาราธอนและจักรยานทางไกล ร่างกายต้องใช้พลังงานมาก การให้ท้องว่างอยู่นานอาจทำให้พลังงานสำรองหมดไป ดังนั้นก่อนการแข่งขันและระหว่างการแข่งขันอาจเติมอาหารที่ย่อยง่ายในปริมาณไม่ถึงอิ่มได้เป็นระยะ
  3. การดื่มน้ำ น้ำไม่ใช่อาหารแต่มีความจำเป็นมากในการออกกำลังกาย เพราะถ้าร่างกายสูญเสียน้ำไปมากถึงระดับหนึ่งสมรรถภาพจะลดต่ำลง เนื่องจากการระบายความร้อนออกจากร่างกายขัดข้องและถ้าเสียน้ำมากต่อไปก็จะเป็นอันตรายต่อร่างกาย จากการทดลองทั้งในห้องปฏิบัติการและในสนามเกี่ยวกับสมรรถภาพทางกายในสภาพที่ขาดน้ำและไม่ขาดน้ำ ได้ข้อสรุปกันว่า การขาดน้ำทำให้สมรรถ-ภาพทางกายลดลง การให้น้ำชดเชยส่วนที่ขาดทำให้สมรรถภาพทางกายไม่ลดลง น้ำสำรองนี้มีปริมาณ 2 % ของน้ำหนักตัว (เช่น คนที่น้ำหนัก 50 กก. มีน้ำสำรองสำหรับเสียได้ 1 กก.) ดังนั้นการเล่นกีฬาใด ๆ ก็ตามที่มีการเสียน้ำไม่เกินกว่า 2 % ของน้ำหนักตัว และก่อนการแข่งขันร่างกายอยู่ในสภาพที่ไม่ขาดดุลน้ำหรือในระหว่างเล่นไม่เกิดความกระหาย ผู้เล่นไม่จำเป็นต้องเติมน้ำในระหว่างนั้น
ในอากาศร้อน การเล่นกีฬาชั่วโมงหนึ่งอาจทำให้ร่างกายเสียน้ำถึง 2 ลิตรหรือกว่านั้น ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการชดเชย ความกระหายเป็นสิ่งบ่งบอกอย่างหนึ่งว่าร่างกายกำลังขาดน้ำ ถ้าไม่สามารถคำนวณได้แน่นอนว่าจะดื่มน้ำในครั้งเดียวเป็นปริมาณเท่าใดจึงหมดความกระหาย จะต้องค่อย ๆ เฉลี่ยปริมาณออกไป ในการทดลองของสถาบันกีฬาเวชศาสตร์แห่งเบอร์ลินพบว่า การให้น้ำชดเชยในปริมาณเท่ากับที่จะสูญเสียในการออกกำลังจะทำให้สมรรถภาพทางกายดีที่สุด แต่จะต้องแบ่งการชดเชยออกไปเป็นจำนวน 25 % ใน 1 ชั่วโมง ก่อนการเล่นอีก 75 % เฉลี่ยไปตามระยะเวลาการออกกำลังกาย
  1. ความเจ็บป่วย ความเจ็บป่วยทุกชนิดทำให้สมรรถภาพทางกายลดลง และร่างกายต้องการการพักผ่อน การออกกำลังกายที่เคยทำอยู่ย่อมเป็นการเกินกว่าที่สภาพร่างกายจะรับได้และอาจทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างการเป็นไข้ซึ่งร่างกายมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติและหัวใจต้องทำงานมากกว่าปกติเพื่อระบายความร้อน เมื่อไปออกกำลังกายเข้าอีก การระบายความร้อนและหัวใจจึงต้องทำงานหนักอย่างยิ่ง แม้แต่งานเบา ๆ ก็อาจเป็นงานหนักได้ นอกจากนั้นหากเป็นไข้ที่เกิดจาก เชื้อโรค การไหลเวียนเลือดที่เพิ่มขึ้นจากการออกกำลังกายอาจทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และทำให้เกิดอักเสบทั่วร่างกายหรือในอวัยวะที่สำคัญ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต การเป็นหวัด แพ้อากาศ ถ้าไม่มีอาการอื่นร่วม เช่น ไข้ เจ็บคอ ไอ อ่อนเพลียก็สามารถฝึกซ้อมและออกกำลังกายได้ตามปกติ
  2. ความเจ็บป่วยระหว่างการออกกำลังกาย เป็นที่แน่นอนว่าระหว่างการออกกำลังกายใด ก็ตามโอกาสจะเกิดอุบัติเหตุมีได้มากกว่าการอยู่เฉย ยิ่งเป็นการเล่นกีฬาที่มีการปะทะกันด้วยแล้ว โอกาสเกิดอุบัติเหตุยิ่งมีมากขึ้น แม้จะเป็นการออกกำลังกายคนเดียว ถ้าหากมีการเปลี่ยนสถานที่ ปริมาณและความหนักของการออกกำลังกาย ก็อาจมีอุบัติเหตุหรือความเจ็บป่วยเกิดขึ้นได้ ความรู้สึก ไม่สบาย อึดอัด การบังคับเคลื่อนไหวไม่ได้ เป็นสัญญาณที่แสดงว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น ถ้าฝืนออกกำลังกายต่อไปโอกาสที่จะเจ็บป่วยจนถึงขั้นร้ายแรงย่อมมากขึ้นตามลำดับ ดังนั้นเมื่อเกิดความเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุขึ้นในระหว่างการออกกำลังกายควรหยุดพักผ่อน ความเจ็บป่วยเล็กน้อยบางครั้งเมื่อพักชั่วครู่ก็หายไปเป็นปกติ อาจเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายต่อไปได้ แต่ถ้าออกกำลังกายต่อไปแล้วอาการเดิมกลับเป็นมากขึ้นก็ต้องหยุด ข้อนี้สำคัญมากสำหรับผู้เล่นกีฬา หรือผู้ออกกำลังกายที่อายุเกิน 55 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะอาการหายใจขัด จุกแน่น เจ็บบริเวณหน้าอก ซึ่งอาจเป็นอาการของการขาดเลือดหล่อเลี้ยงหัวใจการฝืนต่อไปอาจทำให้หัวใจวายและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
  3. ด้านจิตใจ ในระหว่างการฝึกซ้อมและการออกกำลังกาย จำเป็นต้องทำจิตใจให้ปลอดโปร่งคิดถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการฝึกซ้อมหรือออกกำลังกาย ตั้งใจปฏิบัติตามท่าทาง เทคนิคต่าง ๆ และคิด แก้ไขการปฏิบัติที่ผิด จะต้องพยายามขจัดเรื่องที่รบกวนจิตใจอื่น ๆ ในระหว่างนั้นออกไป หากขจัดไม่ได้จริง ๆ ก็ไม่ควรฝึกซ้อมหรือออกกำลังกายต่อไป เพราะทำให้เสียสมาธิและเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย (ตามหลักทางจิตวิทยา การออกกำลังกายมีผลต่อจิตใจในการช่วยลดความเครียดอยู่แล้ว)
  4. ความสม่ำเสมอ ผลเพิ่มของสมรรถภาพต่าง ๆ นอกจากจะขึ้นอยู่กับปริมาณความหนักเบาของการฝึกซ้อมหรือออกกำลังกายแล้ว ยังขึ้นอยู่กับความสม่ำเสมอด้วย ดังนั้น การฝึกซ้อมเพื่อแข่งขัน หรือเพื่อสุขภาพก็ตาม ต้องพยายามรักษาความสม่ำเสมอไว้ การฝึกหนักติดต่อกัน 1 เดือนแล้วหยุดไป 2 สัปดาห์แล้วจะมาเริ่มใหม่ จะเริ่มเท่ากับการฝึกครั้งสุดท้ายไม่ได้ จะต้องลดความหนักให้ต่ำกว่าครั้ง สุดท้ายที่ฝึกอยู่แล้วจึงค่อย ๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการเสียเวลามาก ข้อนี้นักกีฬาของไทยเป็นอยู่เสมอเมื่อหยุดแข่งขันก็หยุดฝึกซ้อมและต้องตั้งต้นกันใหม่เมื่อจะเริ่มแข่งขันอีก โอกาสที่จะเพิ่มสมรรถภาพให้สูงกว่าเดิมจึงไม่มี
  5. การพักผ่อน หลังการฝึกซ้อมหรือออกกำลังกาย ร่างกายเสียพลังงานสำรองไปมาก จำเป็นต้องมีการชดเชย รวมทั้งต้องซ่อมแซมส่วนสึกหรอและสร้างเสริมให้แข็งแรงยิ่งขึ้น กระบวนการเหล่านี้จะเกิดขึ้นในระหว่างการพักผ่อนหลังจากฝึกซ้อมหรือการออกกำลังกายอย่างหนัก จึงจำเป็นต้องพักผ่อนให้เพียงพอ ข้อสังเกตง่าย ๆ คือก่อนการออกกำลังกายครั้งต่อไป ร่างกายจะต้องสดชื่นอยู่ในสภาพเดิมหรือดีกว่าเดิม การออกกำลังกายวันต่อไปจึงจะทำได้มากขึ้นเป็นลำดับ
ข้อปฏิบัติ 10 ประการนี้ อาจจะไม่มีรายละเอียดมากพอหรือไม่ครบถ้วน แต่ถ้าผู้ออกกำลังกายนำไปปฏิบัติได้ ก็จะช่วยให้การฝึกซ้อมหรือการออกกำลังกายได้ผลดียิ่งขึ้น และลดอันตรายที่อาจจะ เกิดขึ้นให้น้อยลงด้วย








                                                                                        












                                                                                   






วันอังคารที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

การตั้งด่านของตำรวจ..................



ครับผม....วันนี้ลุงธีจะขอพูดถึงเรื่องการตั้งด่านของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ซึ่งพ่อแม่พี่น้องคงจะคุ้นเคยพบเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจพากันตรวจค้น
รถยนต์ - รถจักรยานยนต์ - ตรวจดูใบขับขี่ - ตรวจจับคนที่
ไม่สวมหมวกกันน็อคอยู่บนท้องถนนหลวงกันทั่วทั้งประเทศไทยนะครับ
คำว่า "ด่าน" ในความรู้สึกของชาวบ้านคือการตรวจจับความผิดจราจร
และสิ่งผิดกฎหมาย...แต่ถ้าว่ากันตามระเบียบจริงๆแล้วความหมาย
ของคำว่า "ด่าน" ตามระเบียบปฏิบัติของกรมตำรวจหรือสำนักงานตำรวจ
แห่งชาติ     มีกำหนดไว้ชัดแจ้งแดงแจ๋เลยทีเดียวเชียวครับ.........
อาจจะไม่ตรงกับความรู้สึกของชาวบ้านหรือ.....แม้แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจ
ที่ปฎิบัติงานกันอยู่ทุกวี่ทุกวันก็อาจไม่รู้ไม่ทราบความหมายของคำว่า"ด่านตรวจ"
เพราะไม่มีผู้ใดนำมาอธิบายขยายความให้ชาวบ้านได้รับรู้รับทราบกันสักเท่าใด
วันนี้ลุงธี   ก็เลยขออนุญาตนำเอาคำสั่งของกรมตำรวจ ตามบันทึกสั่งการที่
0625.23/3779 ลงวันที่ 13 มีนาคม 2540 ลงนามโดยท่าน พล.ต.อ.ประชา
พรหมนอก  อ.ตร.ในสมัยนั้น  ซึ่งอธิบายคำว่า "ด่านตรวจ" "จุดตรวจ" และ
"จุดสกัด" ไว้อย่างชัดเจน ตลอดจนวางแนวทางการปฎิบัติไว้อย่างครบถ้วนเลยครับ
เพื่อพ่อแม่พี่น้องจะได้ทราบและเข้าใจ หากตำรวจโรงพักใดปฏิบัติไม่ถูกต้อง
ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาข้างต้นขอได้โปรดช่วยกันแนะนำพวกเขาเหล่านั้นด้วย
เพื่อที่ตำรวจไทยจะได้ไม่ทำผิดซ้ำซากจำเจ...เป็นเหตุให้ชาวบ้านเขาตำหนิ
ติเตียนกันอย่างทุกวันนี้ คร้าบบบบบบบ...........
อ้อ...ลืมไป...ฝากพี่น้องตำรวจเราทุกคนด้วยครับ...บางทีชาวบ้านเขาขี่รถ
จักรยานยนต์เข้ามาหาซื้อข้าวซื้อปลาในเมือง มีเงินติดตัวมา 100 - 200 บาท
เมื่อท่านพบเห็นการกระทำผิดกฎจราจรจะปรับเขาก็ขอให้ลงโทษสถานเบา
ด้วยนะครับ   ทำอย่างไรก็ได้ขอให้เขามีเงินเหลือเอาไปซื้ออาหารการกิน
กลับไปให้ลูกให้เต้าเขาด้วยนะคร้าบบบบ   อย่าหวังแต่เงินรางวัลจากการ
จับกุมความผิดเกี่ยวกับการจราจรมากเกินไปเลยนะคร้าบบบบบบบบ
ให้ดูตัวเองและคนในครอบครัวของท่านก่อนว่าได้เคารพกฎจราจร
อย่างเคร่งครัดเหนือกว่าชาวบ้านหรือเปล่า ถ้ายังพอๆกันอยู่ก็ขอได้โปรดเห็นใจ
ชาวบ้านเขาด้วยนะครับบบบบบ อีกอย่างคำพูดคำจากับชาวบ้านก็ขอให้
พูดอย่างสุภาพอ่อนโยน...ใช้ปิยวาจาด้วยนะคร้าบบบบบบ
ลุงธีขอร้อง.........


..................................................


บันทึกข้อความ
ส่วนราชการ กรมตำรวจ โทร. 251-9391
ที่ 0625.23/3779                                                  วันที่    13 มีนาคม 2540
เรื่อง มาตรการการปฏิบัติเกี่ยวกับการตั้งด่านตรวจ จุดตรวจ และจุดสกัด
ผบช..1 – 9. ., ., ตชด. และ จตร.
                                ตามที่ปรากฏข่าวว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งด่านตรวจหรือจุดตรวจ เพื่อเรียกรับผลประโยชน์จากผู้ใช้รถใช้ถนนในการสัญจรไปมาตามถนนหลวง ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนโดยทั่วไป ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงกำหนดมาตรการเกี่ยวกับการตั้งด่านตรวจ จุดตรวจ และจุดสกัด เพื่อให้ยึดถือเป็นหลักปฏิบัติดังนี้
1. ความหมายของคำว่า ด่านตรวจ จุดตรวจ และจุดสกัด
1.1 ด่านตรวจ หมายถึง สถานที่ทำการที่เจ้าพนักงานตำรวจออกปฏิบัติหาน้าที่ในการตรวจค้นเพื่อจับกุมผู้กระทำความผิดในเขตทางเดินรถ (ความหมายตาม พ...จราจรทางบก พ..2535) โดยระบุสถานที่ไว้ชัดแจ้งเป็นการถาวร การตั้งด่านตรวจจะต้องได้รับอนุมัติจาก ครม. หรือผู้มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวง หรือ กอ.รมน.แล้วแต่กรณี
1.2 จุดตรวจ หมายถึง สถานที่ที่เจ้าพนักงานตำรวจออกปฏิบัติหน้าที่ตรวจค้น เพื่อจับกุมผู้กระทำความผิดในเขตทางเดินรถหรือทางหลวงในกรณีปกติเป็นการชั่ว คราว โดยมีกำหนดระยะเวลาเท่าที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการปฏิบัติหน้าที่ดัง กล่าว แต่ต้องไม่เกิน 24 ชั่วโมง และเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจแล้วจะต้องยุบเลิกจุดตรวจดังกล่าวทันที
1.3 จุดสกัด หมายถึง สถานที่ที่เจ้าพนักงานตำรวจออกปฏิบัติหน้าที่ตรวจค้น เพื่อจับกุมผู้กระทำความผิดในเขตทางเดินรถ หรือทางหลวง ในกรณีที่มีเหตุการณ์ฉุกเฉินหรือจำเป็นเร่งด่วนเกิดขึ้นเป็นการชั่วคราวและ จะต้องยุบเลิกเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจดังกล่าว
                                2. การจัดตั้งด่านตรวจ จุดตรวจ และจุดสกัด
2.1 ห้ามมิให้ตั้งด่านตรวจ จุดตรวจหรือจุดสกัด ในเขตทางเดินรถหรือ ทางหลวงเว้นแต่
2.1.1 ด่านตรวจ การจัดตั้งด่านตรวจจะกระทำได้ ต้องได้รับอนุมัติจาก ครม. หรือผู้มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวง หรือ กอ.รมน. แล้วแต่กรณี
2.1.2 จุดตรวจ การตั้งจุดตรวจจะต้องได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชา ตั้งแต่ชั้น ผบก.ขึ้นไป โดยพิจารณาว่าเป็นกรณีที่มีเหตุผลความจำเป็นอย่างยิ่ง และต้องมีกำหนดระยะเวลาไม่เกิน 24 ชั่วโมง
2.1.3 การ จัดตั้งจุดสกัด จะตั้งได้เฉพาะกรณีที่มีเหตุการณ์ฉุกเฉิน หรือจำเป็นเร่งด่วนเกิดขึ้น และจะต้องได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาตั้งแต่ระดับหัวหน้าสถานีตำรวจ หรือผู้รักษาการแทนขึ้นไป โดยมีกำหนดระยะเวลาเท่าที่มีเหตุการณ์ฉุกเฉินหรือจำเป็นเร่งด่วนดังกล่าวยัง คงมีอยู่เท่านั้น
2.2 ให้เลิกด่านตรวจ จุดตรวจ ที่ตั้งขึ้นไม่ตรงตามวัตถุประสงค์และความหมายตามข้อ 1 และ 2 ทั้งหมดตั้งแต่บัดนี้
3. การปฏิบัติ
3.1 การปฏิบัติหน้ามี่ ณ ด่านตรวจ จุดตรวจหรือจุดสกัด จะต้องมีนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรเป็นหัวหน้า และจะต้องแต่งเครื่องแบบในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว
3.2 การปฏิบัติในการตรวจค้น จับกุม ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี ว่าด้วยการนั้นโดยเคร่งครัด
3.3 ที่ด่านตรวจหรือจุดตรวจ ต้องมีแผงกั้นที่มีเครื่องหมายการจราจรว่า หยุด โดยให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ด่านตรวจหรือจุดตรวจ จะต้องมีในการติดตั้งป้ายและเครื่องหมายการจราจร และในเวลากลางคืนจะต้องให้มีแสงไฟส่องสว่างให้มองเห็นได้อย่าง ชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า 150 เมตร ก่อนถึงจุดตรวจ และให้มีแผ่นป้ายแสดงยศ ชื่อ นามสกุล และตำแหน่งของหัวหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ประจำด่านตรวจและจุดตรวจดังกล่าว นอกจากนั้นให้มีแผ่นป้ายแสดงข้อความว่า หากพบเจ้าหน้าที่ทุจริต หรือประพฤติมิชอบให้แจ้ง ผู้บังคับการ โทร……………….”(ให้ใส่หมายเลขโทรศัพท์ของ ผบก.ไว้ ข้อความดังกล่าวข้างต้นให้มองเห็นได้ชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า 15 เมตร
3.4 การตั้งจุดตรวจ หรือจุดสกัด ให้ทุกหน่วยประสานการปฏิบัติระหว่างหน่วยใกล้เคียงให้ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยที่มีเขตพื้นที่รับผิดชอบติดต่อกัน โดยมิให้เกิดการตั้งจุดตรวจ หรือจุดสกัดซ้ำซ้อนอันเป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนผู้สัญจรไปมาเป็นอันขาด
4. การควบคุมและตรวจสอบการปฏิบัติ
4.1 เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเริ่มต้น หรือเลิกปฏิบัติหน้าที่ประจำจุดตรวจหรือ จุดสกัด ให้รายงานทาง ว. ให้ ผู้บังคับบัญชาผู้สั่งอนุมัติให้ตั้งจุดตรวจ หรือจุดสกัดดังกล่าวทราบ และเมื่อเสร็จสิ้นการปฏิบัติแล้วให้หัวหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำจุดตรวจ หรือจุดสกัดดังกล่าว รายงานผลการปฏิบัติเป็นลายลักษณ์อักษรเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นจนถึง ผู้สั่งอนุมัติภายในวันถัดไปเป็นอย่างช้า
4.2 ให้ผู้บังคับบัญชาตั้งแต่ระดับ สว. ขึ้น ไป ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันออกตรวจการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำ ด่านตรวจ จุดตรวจหรือจุดสกัด ที่มีอยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ
4.3 ให้ถือว่าเป็นหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาตาม 4.2 ที่จะต้องเอาใจใส่กวดขัน ดูแลการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ใต้บังคับบัญชาของตนมิให้ฉวยโอกาสขณะปฏิบัติหน้าที่ประจำด่านตรวจ จุดตรวจ หรือจุดสกัด เรียกหรือรับผลประโยชน์จากผู้ใช้รถที่กระทำผิดกฎหมาย หรือไปดำเนินการจัดตั้งจุดตรวจ หรือจุดสกัด ในเขตเดินรถหรือทางหลวง โดยมิได้รับคำสั่งจากผู้มีอำนาจ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ และหากตรวจพบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ใดประพฤติมิชอบในลักษณะดังกล่าว ก็ให้รีบพิจารณาดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ผู้นั้นไปตามอำนาจหน้าที่ ทั้งทางคดีอาญาและคดีวินัย แล้วรายงานให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น จนถึง ตร. ทราบ โดยมิชักช้า โดยรายงานดังกล่าว ให้ระบุ ยศ นาม ตำแหน่งของข้าราชการตำรวจผู้กระทำผิดพร้อมกับรายละเอียดเกี่ยวกับลักษณะและพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดให้ละเอียดชัดเจน
4.4 หากปรากฎว่าผู้บังคับบัญชาในระดับตั้งแต่กองบังคับการหรือเทียบเท่าขึ้นไปหรือ ตำรวจอื่น สืบสวนข้อเท็จจริงจนปรากฏชัดเจน หรือตรวจตราพบว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ณ ด่านตรวจ จุดตรวจ หรือจุดสกัดที่ใด มีพฤติการณ์มิชอบดังกล่าว ตาม 4.3 หรือจับกุมตัวได้ โดย ต่อเนื่องกันหลายวัน ให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาทัณฑ์ทางวินัย แก่ผู้บังคับบัญชาที่ใกล้ชิดของ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่กระทำผิดดังกล่าวฐานบกพร่องละเลยไม่เอาใจใส่ดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาของตนอีกส่วนหนึ่งด้วย
4.5 ให้ ผบช., ., ., .1 – 9 ตชด. และ จตร. ติดตามผลการปฏิบัติตามนัยบันทึกสั่งการนี้รายงานผลการปฏิบัติให้ ตร. ทราบภายในวันที่ 7 ของแต่ละเดือน ในรายงานให้ ปรากฏด้วยว่าได้มอบหมายให้ตรวจติดตามและมีผลการปฏิบัติเป็นอย่างไร ทั้งนี้ให้ปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
5. ให้ยกเลิกหนังสือสั่งการของ ตร. ด่วนที่สุดที่ 0520.23/427 ลง 13 ..2536 เรื่อง มาตรการกวดขันเกี่ยวกับการตั้งด่านตรวจ จุดตรวจ และจุดสกัด
เพื่อทราบและถือปฏิบัติโดยเคร่งครัดต่อไป
                                                                (ลงชื่อ)  พล... ประชา พรหมนอก
      (ประชา พรหมนอก)
                  .ตร.


                         








                                              ความผิดกฎหมายจราจรเป็นความผิดเล็กน้อย
                                         จนท.ตำรวจสามารถว่ากล่าวตักเตือนได้ตามกฎหมาย
                        ขอให้พวกเราชาวตำรวจจงช่วยกันฟื้นฟูภาพลักษณ์ขององค์กรตำรวจด้วยครับ
                                                                                                        
                                                           
                     


วันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

บทความดีดี.........


ครับ....วันนี้ลุงธีเองได้อ่านบทความของนายแพทย์ท่านหนึ่ง
อยู่จังหวัดน่าน   ท่านเขียนไว้เกี่ยวกับการทำความดี  การปิดทองหลังพระ
ลุงธีอ่านแล้วชอบใจ.....ก็เลยขออนุญาตนำเอาบทความเล็กๆดังกล่าว
มาถ่ายทอดไว้ในบล็อกของลุงธี ก็แล้วกันนะคร้าบบบบบ...
ความจริงเกี่ยวกับการที่คนไทยเราไม่อายที่จะทำความดีนี่
ลุงธีเองก็เคยมีแนวความคิดที่จะส่งเสริมสนับสนุนอยู่ตลอดเวลา
เลยนะครับ  แล้วแต่โอกาสและความสามารถของลุงธีจะทำได้
เช่นลุงธีเคยวาดฝันเอาไว้ว่าเมื่อตนเองเกษียณอายุราชการแล้ว
หากมีเวลาเพียงพอ....ตัวลุงธีเองจะออกเดินทางไปสุ่มหา
ข้าราชการตำรวจที่ดีดี....(ก็ลุงธีเป็นตำรวจนี่ครับ)   ที่ตั้งใจทำงาน
ในหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ โดยที่เขาเองอาจจะไม่ได้รับ
การยกย่องเชิดหน้าชูตา หรือไม่ได้รับความดีความชอบในการรับราชการ
จะด้วยสาเหตุอันใดก็ตามแต่....แต่ถ้าหากลุงธีไปประสบพบเห็นแล้วละก็
ลุงธีเองจะเข้าไปแสดงความยกย่องยินดีและเป็นกำลังใจให้ และถ้า
เป็นไปได้ตัวลุงธีเองก็จะหารางวัลส่วนตัวไปมอบให้ท่านเหล่านั้น
เท่าที่ตนเองจะทำได้คร้าบบบบบบ.......
เอาละครับมาอ่านบทความดีดีของการทำความดีกันดีกว่าครับ

......................................................................

 " การทำความดีนั้นยาก ยิ่งทำโดยไม่มีคนเห็นยิ่งยากกว่า แต่มีคนบางคนพยายามทำอยู่ "
มีเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลน่านคนหนึ่งเล่าให้ผมฟังว่า เมื่อหลายสัปดาห์ก่อน เธอขับรถจักรยานยนต์ ไปซื้อของที่ร้านค้าแห่งหนึ่ง เธอพบชายหนุ่มคนหนึ่งเนื้อตัวมอมแมมใส่เสื้อเลอะฝุ่นโคลน นอนไม่รู้สึกตัวอยู่ริมทางเดินเท้า เธอคาดคะเนว่าอายุประมาณ 20 ปีเศษ เธอจึงเดินเข้าไปถามที่ร้านค้าได้รับทราบว่าชายคนนี้เดินไปเดินมาแบบคนเมา เที่ยวขอข้าวกินแล้วก็มานอนอยู่หน้าร้านทั้งคืน ตอนนั้นใจเธอนึกว่า ถ้าชายหนุ่มคนนี้เป็นลูกเราล่ะ พ่อแม่ของเขาย่อมรอการกลับมาของลูกเขา เธอจึงไม่ยอมเดินจากไปเหมือนคนอื่น. เธอจึงชวนน้องที่อยู่ในร้านมาช่วยกันดูว่าชายคนนี้เป็นอย่างไรบ้าง น้องคนนั้นก็เอาไม้ไปเขี่ย เธอเห็นเขากระพริบตา จึงบอกไม่ต้องเขี่ยแล้ว เธอถามชายหนุ่มคนนั้นว่า เป็นคนไทยหรือเปล่า อยู่บ้านไหน จึงได้ทราบความว่า เป็นคนตำบลบ่อเกลือเหนือ อำเภอบ่อเกลือ ซึ่งเป็นอำเภอที่กันดารและห่างไกลที่สุดอำเภอหนึ่งของจังหวัดน่าน โดยเขาตั้งใจจะไปทำงานที่จังหวัดแพร่ แต่รถคันไหนก็ไม่ยอมรับ เพราะเนื้อตัวสกปรก จะกลับบ้านก็กลับไม่ได้ มีเงินเหลืออยู่นิดหน่อย จึงซื้อเหล้าเพื่อดับความกลุ้มใจ. เธอจึงแนะนำให้ไปอาบน้ำแล้วไปนอนที่สถานีขนส่งจะปลอดภัยกว่า เธอให้เงินไปซื้อข้าวพร้อมค่ารถโดยสารกลับ. วันต่อมาเธอไปติดตามถามคนแถวนั้นได้ความว่าชายหนุ่มคนนั้นเดินทางไปแล้ว เธอคิดในใจว่าเขาคงจะได้กลับบ้านแล้ว พ่อแม่ของเด็กหนุ่มคนนั้นคงมีความสุขที่ลูกชายกลับบ้านไป.

ในยุคทุนนิยมที่ขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดความรู้สึกตัวใครตัวมัน จังหวัดน่านก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ในอดีตคงไม่มีใครทำเหมือนมองไม่เห็นคนที่นอนกลิ้งกลางทางราวกับเป็นหมาข้างถนน ทุกวันนี้เราทุกคนถูกปลูกฝังให้เชื่อว่า กวางที่อ่อนแอย่อม  เป็นเหยื่อของสิงโตที่แข็งแรงกว่า ทุกคนต้องเอาตัวรอดเอง ใครไม่รอดก็ช่วยไม่ได้ ความเอื้ออาทรของคนดูจะน้อยลงไปทุกที แต่ผมยังเชื่อว่าเรายังมีความหวังดังอีกตัวอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้.

ในอีกวันหนึ่งที่ห้องตรวจโอพีดี ผมถามแม่ของเด็กคนหนึ่งที่พาลูกมาตรวจว่าลูกป่วยเป็นอะไรมา เธอไม่ตอบ ท่าทางเหมือนฟังไม่รู้เรื่องและกลัวปนงงๆ คงเป็นเพราะผมใส่หน้ากากอนามัยทำให้เสียงพูดไม่ค่อยชัดนัก และเธอคงเป็นชาวเขาซึ่งสังเกตได้จากเสื้อผ้าที่ค่อนข้างเก่าและขาดบางส่วน ขณะที่ผมถามดังขึ้นและย้ำอีกครั้ง ผู้หญิงคนหนึ่งที่เดินเข้ามาด้วยกันจึงตอบแทนแม่ของเด็กว่าลูกเธอป่วยเป็นไข้มา  1 สัปดาห์แล้ว เธอจึงติดรถของคนที่อยู่ในหมู่บ้านมาตรวจ แต่เนื่องจากแพทย์ส่งตรวจเลือด กว่าจะได้ผลเลือดก็บ่ายสองกว่าๆ แล้ว คนที่ขับรถมาตรวจก็เลยกลับไปก่อน แม่ของเด็กไม่รู้จะกลับอย่างไร ไม่เคยเข้ามาในตัวเมืองมาก่อน เนื่องจากผู้หญิงคนนี้แต่งตัวค่อนข้างดีและดูมีการศึกษา ผมจึงถามว่าแล้วคุณเป็นญาติกับแม่ลูกสองคนนี้หรือเปล่า เธอตอบว่าไม่ใช่ แต่เห็นแล้วสงสาร เพราะไปตรงไหนก็ไม่มีใครคุยรู้เรื่อง เธอเองก็มาตรวจตามนัดเสร็จตั้งแต่ 11 โมงแล้ว แต่ก็ช่วยดูแลแม่ลูกคู่นี้ให้. ผมอดไม่ได้ที่จะเอ่ยปากชื่นชมและให้กำลังใจเธอ และเมื่อตรวจและสั่งยาเสร็จ ผมจึงกดโทรศัพท์ไปฝากศูนย์ EMS ให้ช่วยหารถไปส่ง  แม่ลูกคู่นี้ให้ด้วย. ผมเชื่อว่าแท้จริงแล้วทุกคนโหยหา ความดี ทุกคนอยากเป็นคนดี แต่ทุกคนเกี่ยงกันว่าใครจะเริ่มก่อน แต่เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลน่านและผู้หญิงที่มาตรวจที่โรงพยาบาลน่านคนนี้ตัดสินใจที่จะเริ่มก่อน พวกเธอไม่สยบยอมต่อความรู้สึกที่ว่าตัวใครตัวมัน ให้ฉันรอดเป็นพอ.

เวลาไปทำบุญที่วัด ผมสังเกตว่าใครๆ ก็มักจะเดินไปปิดทองที่หน้าองค์พระพุทธรูป แต่ผมจำได้ว่าอาจารย์ นายแพทย์บุญยงค์ วงค์รักมิตร อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลน่าน เคยเล่าให้ฟังว่าเมื่อสมัยหนึ่ง อาจารย์บุญยงค์เคยได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงพระราชทานพระสมเด็จจิตรลดาให้อาจารย์บุญยงค์องค์หนึ่ง ซึ่งเป็นองค์สุดท้ายที่พระองค์มีอยู่ พระองค์ทรงตรัสว่า  " ฝากปิดทองหลังพระให้ด้วย " ซึ่งพระราชดำรัสของพระองค์ในวันนั้นนั้นอาจารย์บุญยงค์ยังจดจำได้ดีจนถึงทุกวันนี้ และอาจารย์บุญยงค์มักจะเล่าเรื่องนี้ ให้แพทย์รุ่นหลังฟังเพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้แพทย์ได้ปิดทองหลังพระกันในขณะที่ทำงานตรวจผู้ป่วยทุกๆ วัน.

การปิดทองหลังพระเป็นเรื่องที่ยาก เพราะใครๆ ก็อยากปิดทองหน้าพระ ให้คนอื่นรวมทั้งตัวเราได้เห็นได้ภูมิใจว่าเราปิดทองแล้วนะ เพราะมนุษย์เรามีชีวิตอยู่และทำสิ่งต่างๆ ได้ด้วยแรงขับเคลื่อน บางคนถูกขับเคลื่อนด้วยความรู้สึกที่ต้องมีกินมีใช้ ให้ลูกได้เรียนหนังสือดีๆ ให้ได้ตำแหน่งเจริญก้าวหน้า ถ้าสิ่งที่ทำนั้นไม่ได้ประโยชน์อะไรต่อตัวเรา เราก็มักจะไม่ทำสิ่งนั้น ซึ่งนั่นเป็นแรงขับดันทั่วไป แต่เพราะมนุษย์ มีสมองส่วน neocortex ที่สัตว์อื่นๆไม่มี ทำให้มนุษย์มีแรงขับดันอีกอย่างหนึ่งที่อยู่ภายใน แรงขับดันในการทำสิ่งที่ดีทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่สังคมและคนรอบข้างแม้ไม่มีใครรู้เห็นก็ตาม.

แพทย์นับเป็นอาชีพที่โชคดี ที่มีผู้ป่วยจำนวนมากที่มามอบโอกาสในการทำดีให้แก่เราในทุกวัน เราไม่จำเป็นต้องทำดีเพียงเพื่อให้หัวหน้าเราเห็น แต่ทำดีให้ตัวเราเห็น ให้เรามีความสุขและความภาคภูมิใจว่าเราได้เป็นคนหนึ่งที่ " ปิดทองหลังพระ " แม้จะไม่มีใครรับรู้ก็ตาม.


พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ พ.บ., อ.ว.
(เวชศาสตร์ป้องกัน) แขนงระบาดวิทยา,
หัวหน้ากลุ่มงานเวชกรรมสังคม
โรงพยาบาลน่าน







มาทำความดีกันดีกว่าคร้าบบบบบ